วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

5 วายร้าย ทะลายความเป็นทีม (The Five Dysfunctions of A Team)



       การ์ตูนThe Five Dysfunctions of A Team เล่มนี้ ทำให้ผมค่อนข้างแปลกใจเล็กน้อย เพราะปกติแล้ว เมื่อพูดถึงหนังสือแนว Management & Leadership เรามักคุ้นกับหนังสือจำพวก Text หนาๆ หรือ pocket book ที่หน้าปกมีแต่ตัวหนังสือที่ให้ความรู้สึก สุขุม ภูมิฐาน และเป็นการเป็นงาน สมวัยผู้บริหารมากกว่า ทำให้ผมเชื่อแน่นอนว่า นักบริหารหลายคนต้องมองข้ามหนังสือเล่มนี้ เพราะมองดูแค่ปก และการเล่าเรื่องในรูปแบบการ์ตูนอย่างแน่นอน 

       ปกติแล้ว การทำงานในบริษัทนั้น เรามักอยากให้พนักงานทำงานเป็นทีม แต่ละคนแต่ละหน่วยนำความรู้ความสามารถที่เด่นแตกต่างกัน มาทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อนำความสำเร็จมาสู่หน่วยงานและองค์กร
แต่ในทางปฏิบัติ น้อยรายที่จะทำงานเป็นทีมเวิร์คได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่เหลือมักจะพังไม่เป็นท่า ไม่สามารถทำงานประสานกันได้ บางครั้งแค่เห็นหน้ากันก็เอือมจนไม่อยากจะเสวนาด้วยละ จนการทำงานไม่สามารถประสานกันได้อย่างที่ควรจะเป็น และสุดท้ายการแก้ปัญหาเรื่องทีมก็มาจบที่ การทำ Team Building หรือ ไป outing ต่างจังหวัด เพื่อที่คนจะได้กลับมารักใคร่กลมเกลียวสมานฉันท์กันซะที ส่วนผลเป็นอย่างไรน่ะหรือครับ ผมว่าเราทุกคนรู้กันดี 55+

ถ้างั้น มันต้องทำไงล่ะ ทีมมันถึงจะเวิร์คได้สมชื่อ ? 


       หลักใหญ่ใจความของการ์ตูนเรื่องนี้ จึงแนะให้เรากลับมา focus ที่ สาเหตุของปัญหา เข้าทำนองทุกข์อยู่ตรงไหน ก็หาเหตุแห่งทุกข์ตรงนั้นแหละ
เพราะทีมมันเกิดจากการที่คนหลายคนมารวมตัวกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทีนี้ไอ้คนที่มารวมตัวกัน มันดันไม่ได้ผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน สเป็ค เดียวกันน่ะสิครับ สมงสมอง ก็ไม่ได้บรรจุระบบปฏิบัติการเหมือนกันอีก มันก็เลยขัดกันทั้งความเชื่อ สไตล์การทำงาน ไปซะหมด นานวันเข้า โปรแกรมในหัวมันเลยตั้งค่าว่า คนที่ขัดกับเรา มันคือศัตรูของเรา อย่างไปไว้ใจมัน เดี๋ยวจะซวยไม่รู้ตัว

        ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นจุดเริ่มของวายร้ายตัวแรก (5 Dysfunctions of A Team) นั่นคือ การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Absent of Trust) จนทำให้ต่างคนต่างป้องกันตัวเอง หน้าตาภาพลักษณ์ และปกปิดจุดอ่อนตัวเองจากศัตรูของเรา 


         การผุกร่อนของ Trust นี่แหละครับที่จะทำให้ฐานรากของบ้านที่เรียกว่า "ทีม" นี้ ทรุดพังลงไปด้วย ไล่ไปตั้งแต่ ไม่อยากตั้งคำถาม ตรวจสอบกันเพราะกลัวจะล้ำเส้น แล้วเดี๋ยวโดนแทงกลับ (Fear of conflict) พอไม่คุยให้เคลียร์ ก็นั่งเงียบ แต่ในใจไม่ยอมรับไม่เห็นด้วย จนขาดการ commit ในงาน (Lack of commitment) ว่าเป็นภาษาบ้านๆคือ นึกในใจว่า "เชิญมึงทำไปคนเดียวเหอะ เดี๋ยวกูพลอยซวยไปด้วย" 

         พอไม่ผูกมัดก็ทำงานกันแบบขอไปที ทำพอผ่าน ไม่อยากไปข้องเกี่ยว หรือตรวจสอบให้งานมันดี (Avoidance of accountability) ร้ายกว่านั้น ก็คือ เป้าช่างแม่ง ทีมช่างมัน (Inattention to result) ขอตัวเองเซฟๆ แบบเก็บขุนในป้อมไว้ก่อน 

         สเตปคุ้นๆ แบบที่เจอในองค์กรไหมครับ 

smile emoticon 
         ดังนั้น การทำ Team ให้มันเวิร์ค จริงๆ นั้น ต้องกลับไปตั้งแต่การทำฐานของทีมให้มั่นคงด้วยการทำให้แต่ละคนในทีมเข้าใจคนอย่างจริงๆ แล้ว Trust มันจะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวเป็นเสาค้ำบ้านที่เข้มแข็งเอง
         ความเข้าใจคนช่วยสร้าง Trust อย่างไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมเคยเจอ คือ ผมรู้ว่าหลายคนไม่ชอบหรอก (อาจถึงขั้นเกลียด) ถ้าจะต้องติดต่อกับหน่วยงานบัญชีในบริษัท แค่พูดชื่อขึ้นมาหลายคนก็ยี้ละ แต่ลองสังเกตนะครับว่า คนที่เขาไม่กลัวหน่วยงานนี้ และสามารถดิวงานกันได้อย่างราบรื่น มักจะเป็นคนที่ให้คำแนะนำกับเราว่า "พี่คนนั้น เขาก็เป็นแบบนั้นแหละ ไม่มีไรหรอก ลองเข้าไปแบบนี้สิ (พร้อมบอกแนวทางการคุย)"
          นี่ขนาดแค่คน ๆ เดียวเข้าใจคนอีกคนนึงนะครับ ลองจินตนาการดูว่า หากในองค์กรเราเข้าใจซึ่งกันและกันล่ะครับ ทีมเรามันจะเวิร์คและพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ขนาดไหนกัน
         ลองหาอ่านในรายละเอียด หรือ ดูคร่าวๆ จาก link บทความในเม้นนะครับ เผื่อจะได้ไอเดียในการ Building the team ที่ยั่งยืนอีกวิธีครับ

-----------
17 ก.พ. 59
อนิรุทธิ์ | PsyberMan



ป.ล. ฉบับภาษาไทยในบ้านเรา แปลโดย อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช ครับ ชื่อ ทำทัมให้เวิร์ค กำจัด 5 อุปสรรคของทีมเวิร์ค

link: http://www.enneagram.co.th/enneagram_files/eg@work1010.pdf





วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นักโทษ

“คนทุกคนมีความฝัน ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งสามารถบันดาลให้มันเป็นความจริง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งยังคงทำให้มันเป็นความฝันเช่นเดิม”...


เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม ว่าจริงแล้วเราเป็นคนกลุ่มไหนกันแน่?

แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากจะที่อยากจะเป็นคนในกลุ่มแรกซึ่งจมอยู่กลับความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่ในความเป็นจริง คนเรามักไม่รู้ว่าตัวเองนี่แหละ ที่เป็นคนสร้างกรงขังขนาดใหญ่ เพื่อพันธนาการตัวเองไม่ให้โบยบินไปสู่ที่หมายปลายทางได้

เพราะว่าเมื่อเกิดอุปสรรค คนบางคนจะทำตัวเป็น “นักโทษ” คิดทันทีทันใดว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากตัวเอง แต่เป็นเพราะโชคชะตา ฟ้าฝน และผู้คนไม่เป็นใจ ในขณะที่ “นัก(แก้)ไข” ซึ่งเป็นคนอีกแบบนั้น จะย้อนมองดูว่าตัวเองก่อนว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อรับมือและพยายามปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้น จนมุ่งไปสู่ ความฝันที่ตั้งใจไว้และทำให้มันกลายเป็นความจริงให้ได้ในวันใดวันหนึ่ง

เพราะฉะนั้น “นักโทษ” จึงกลายเป็น นักโทษอย่างแท้จริง เพราะคนพวกนี้ยังคงโทษสิ่งอื่นๆ อยู่อย่างนั้น

วันแล้ว...วันเล่า... จนขังตัวเองอยู่ใน ”คุกแห่งความคิด” ที่ไม่มีทางออก และแน่นอนว่าในวันหนึ่ง
เขาจะรู้สึกสิ้นหวัง จนละทิ้งสิ่งที่ เรียกว่า “ความฝัน” ให้มันเฝ้ารอเจ้าของผู้ซึ่งไม่สามารถมาถึงมันได้ตลอดกาล

แทบไม่น่าเชื่อว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลนี้ เกิดจากกระบวนการคิดของคนเราที่มีความแตกต่างกันแค่ๆเล็กน้อยเท่านี้เอง ก่อนที่มันจะก่อให้เกิดการกระทำที่แตกต่างกัน จนทำให้ไม่ใช่คนทุกคนที่จะไปถึงความฝันที่แต่ละวาดหวังไว้

ถึงตรงนี้ ขอย้อนถามอีกอีกครั้งว่า คุณรู้ตัวเองหรือยังว่าคุณเป็นคนกลุ่มไหน



เกมลากเส้นต่อจุด

ยังจำเกม"ลากเส้นต่อจุด" ที่เราเคยเล่นสมัยเด็กได้ไหมครับ?


...หลายคนนึกออกบ้าง ในขณะอีกหลายคนอาจจะยังงงๆ ว่า มันคืออะไรกัน (วะ) เพราะวัยเด็กมันก็ผ่านมาเนิ่นนานเหลือเกิน..

ค่อยๆ นึกตามนะครับ ว่าเจ้าสมุดภาพที่ว่าเนี่ยหน้าตาจะคล้ายๆ สมุดระบายสีของเด็ก ที่ในแต่ละหน้า จะมีจุดกระจายเต็มหน้า แต่ตัวเลขกำกับไว้ 1, 2, 3 ... ไล่เรียงกันเป็นเรื่อยๆ
วิธีเล่นก็คือการลากเส้นเพื่อเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นตามลำดับ เพื่อให้รูปๆ นั้น มีความสมบูรณ์ จนกลายเป็นรูปนกบ้าง รูปปลาบ้าง (ถ้านึกไม่ออก ดูภาพด้านล่างเลยละกันครับ)
นั่นแหละ!!




จริงๆ แล้ว เราเล่นเกม "ลากเส้นต่อจุด" นี้ อยู่แทบทุกวัน ทุกเวลาโดยไม่รู้ตัว
คุณลองลากเส้น ตามจุดที่มี 3 จุด ด้านล่าง ดูนะครับ
แล้วดูซิวะ คุณได้รูปอะไรกันบ้าง

.......
..........
..............
สามเหลี่ยม ...

หรือ......สี่เหลี่ยม...

หรือ คนที่คิดแผลงๆ หน่อย อาจจะเป็นรูปสัตว์ประหลาดกันเลยทีเดียว...
......
...คำตอบ... ยังไม่มีให้ตอนนี้ครับ

คราวนี้ ลองเปลี่ยนจาก"จุด" แต่ละจุดนั้น เป็น ภาพเหตุการณ์ที่เราพบเห็นแค่ชั่วขณะ แค่บางช่วงเวลา ในแต่ละวัน...

พอเห็นไหมครับว่า เอาเข้าจริงๆ สมองเราจะพยายามสร้างภาพ หรือ ประมวลเรื่องราวต่างๆ ให้สมบูรณ์ที่สุดโดยใช้กรอบความคิดเดิม และประสบการณ์เก่า ที่มีอยู่มาเสริมส่วนที่ขาดหายไป...
แต่ผลของมันบางครั้งก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร เป็นต้นว่า
เราอาจขีดเส้น สร้างเรื่องราวว่า ชีวิตคนอื่นดีกว่าเรา เพียงเพราะภาพ "ชีวิตดี๊ดี" ไม่กี่ภาพในเฟส จนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือ อิจฉาตาร้อนผ่าวๆ

อาจด่าทอกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างมีอารมณ์ร่วม เพียงเพราะข้อมูลที่ปะติดปะต่อกันมา

อาจเป็นศัตรูกับเพื่อนร่วมงาน เพียงเพราะ ผิดใจกันจากการทำงานแค่ไม่กี่เรื่อง

หรือแม้แต่ ดราม่ากับแฟน เพราะ จินตนาการ ว่าเขากำลังนอกใจ จากแค่กลิ่นน้ำหอม และเวลาการกลับบ้านที่เปลี่ยนไปจากเดิม

นั่นเป็นเพราะ ความพยายามที่จะสร้างภาพในใจ ด้วยจุดเท่าที่มีอยู่เดิม หรือแม้แต่เท่าที่ (เขา)ให้มา



คำถาม...

เราเคยมองหาจุดอื่นๆ ที่จะประกอบเป็นภาพที่ชัดเจนให้มากขึ้นกว่าเดิมไหม
และคำถามที่สำคัญกว่านั้น... เรา "อยาก" ที่จะหาจุดพวกนั้นหรือเปล่า
จะต้องหามากแค่ไหน คงตอบไม่ได้ แต่หากจุดที่มี มันน้อยมากเกินไป คงเดาได้ใช่ไหมครับ ว่างานขีดๆ เขียนๆ เชิง แอ๊บสะแตก (ภาษาชาวบ้าน เรียก "มโน") กำลังจะเริ่มแล้ว...


กลับมาที่คำถามข้างต้น ตอนนี้ คุณยังเชื่อมจุดสามจุดนั้นเป็นรูปเดิมอยู่ไหมครับ???

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Let's Get Rich, Let's Go Learn! | ชีวิตเรา ลูกเต๋ากำหนด???




ช่วงนี้ เป็นเวลาที่ผมได้รับข้อความจากเพื่อนๆ บ่อยเป็นพิเศษ ทั้งที่คุ้นเคยกันดีบ้าง หรือ นานๆคุยกันทีบ้าง
ปรากฎว่า ไม่ใช่เรื่องด่วน หรือมีคนคิดถึงอะไรผมนักหนาหรอกครับ มันเป็นข้อความแจ้งจาก "เกมเศรษฐี" นั่นเอง
ผมนึกถึง เกมกระดานในชื่อเดียวกันนี้ที่เคยเล่นตอนเด็ก ซึ่งเป็นเกมทอยลูกเต๋า เคลื่อนที่ตัวเดิน เพื่อซื้อที่ดิน บ้าน และโรงแรม ด้วยเงินจำลอง พร้อมบทสรุปที่มีทั้ง ผู้ชนะที่รวยที่สุด และคนที่ล้มละลายจากเกม  

เกม Line Let's get rich คือการจำลองรูปแบบการเล่นเกมที่ว่า มาลงในระบบดิจิตอล พร้อมปรับกฎกติกาบางอย่าง เช่น การเทคโอเวอร์กิจการและที่ดินเมื่อเดินตกของคู่แข่ง เงื่อนไขในการชนะ รวมถึงระบบการพัฒนาตัวเดิน และของวิเศษที่เป็นตัวช่วย เพื่อเพิ่มค่าความน่าจะเป็นในการทอยลูกเต๋าให้ได้แต้มดี หลบหลี่ยงอุปสรรคต่างๆ ที่คอยขัดขวาง และสร้างความได้เปรียบจากเพื่อนๆออนไลน์ที่ร่วมเล่นเกม ทำให้หนทางสู่ความเป็นเจ้าสัวของเรามีความหลากหลาย และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดต่อมา คือ

"เราแก่ขนาดนี้ จะยังสนุกกับมันไหม"
"ก็คงทอยลูกเต๋า เล่นไปตามดวง"

ครับ เดิมที ผมคิดอย่างนั้นจริง และคนอีกไม่น้อยก็คงคิดหมือนกันว่า เกมเศรษฐีฉบับดิจิตอล เป็นเกมที่เน้นดวงล้วนๆ และพาลไปโยงถึงชีวิตจริงเสียด้วยซ้ำ ว่า "แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่วาสนาแข่งไม่ได้"
ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม อาจบอกได้ว่า ความสำเร็จเกิดจากองค์ประกอบง่ายๆ แค่สองส่วนเท่านั้น นั่นคือปัจจัยภายในตัวเรา (Internal factor) และปัจจัยภายนอกตัวเรา (External factor)

  ความสำเร็จ = ความสามารถ + ทัศนคติ + ทรัพยากรเสริม +จังหวะที่เหมาะสม (ดวง)

สังเกตอะไรไหมครับ?
แม้ว่าดวงจะเป็นตัวสำคัญ ที่ส่งผลต่อการพลิกของเกม แต่ยังมีปัจจัยอื่น อีกถึง 3 ตัว ที่เราสามารถควบบคุมและปรับมันเพื่อชดเชยสิ่งที่คุมได้ยากอย่าง "ดวง"

เพื่อให้เห็นภาพในเชิงรูปธรรม ผมขอแทนสูตรความสำเร็จ ด้วยปัจจัยในเกมนะครับ

  การเป็นเศรษฐี = วิธีการเล่น + ทัศนคติการเล่น + ไอเท็มเสริม และ ความสามารถตัวเดิน + ดวง  

เมื่อถึงตรงนี้ คาดว่าผู้อ่าน คงพอจะได้คำตอบเพิ่มเติมแล้วว่า สิ่งที่เราควรเน้น คือสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ดีที่สุด หรือ ปัจจัยภายในตัวเราเอง  นั่นคือ ทัศนคติ และวิธีการในการเล่น

ทัศนคติ หรือความคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะมันเปรียบเหมือนโปรแกรมที่จะกำหนดพฤติกรรม และวิธีการที่เราจะลงมือทำ เช่น หากมองว่าเกมนี้ขึ้นกับดวง เราก็จะจิ้มๆ หน้าจอเพื่อทอยเต๋าไปเรื่อยๆ ตามบุญตามกรรม หากล้มเหลว ก็สามารถโทษโชคชะตา ซึ่งเป็นทางออกที่ง่ายในการอธิบายความผิดพลาดที่เกิดขึ้น 

     ในทางตรงข้าม ถ้ามองว่าเกมนี้ขึ้นกับตัวเราเอง เราจะพยายามคิดและปรับวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลที่เรามุ่งหวังไว้ และจะปรับทุกสิ่งที่เราสามารถทำได้ให้ดียิ่งขึ้น
ภาษาทางจิตวิทยา เรียก คนทั้งสองกลุ่มนี้ว่า พวก External Locus of Control และ Internal Locus of Control ครับ หากสนใจรายละเอียด ก็ลองหาอ่านกันดูนะครับ

การควบคุมอารมณ์ ผมถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลต่อการตัดสินใจในเกมอย่างมาก เพราะ จัดว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทัศนคติ (Affective component) ที่เกิดจากสิ่งเร้าในเกม และเป็นตัวแปรที่มักทำให้ระบบการตัดสินใจผิดพลาดอย่างไม่ควรเป็น และบางครั้งอาจส่งผลต่อการแพ้-ชนะ ได้เลยทีเดียว เช่น เมื่อถูกยึดเมือง เราอาจโมโห และมุ่งแต่จะยึดเมืองกลับให้ได้ ทั้งๆที่อาจไม่มีความจำเป็น และไม่ส่งผลใดๆ ในทางยุทธศาสตร์เลย


เมื่อพร้อมแล้ว เรามาเริ่มต้นเกมทอยลูกเต๋านี้กันได้เลยครับ

การโฟกัสที่เป้าหมาย และกติกา

เริ่มต้น เราควรเข้าใจ และตีโจทย์ของเป้าหมายในเกมให้แตกก่อน นี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ที่เราต้องทราบว่าเป้าหมายสูงสุดที่เราต้องการคืออะไร สำหรับในเกมนี้ วัตถุประสงค์สูงสุด (outcome) คือการเป็นการเป็นเศราฐีแต่เพียงผู้เดียว หรือ ผู้ชนะในเกม นั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำ (What) เพื่อบรรลุเป้าหมายย่อยให้ได้ (output) มี 5 ทางเลือก นั่นคือ

1. จำนวนเงินของเราต้องมากกว่าคู่แข่งก่อนหมดรอบการทอยลูกเต๋า
2. คู่แข่งล้มละลายหมด
3. ครอบครองที่ดิน ได้สามสี (Triple Victory)
4. ครอบครองที่ดินทั้งแถบในด้านใดด้านหนึ่งของกระดาน (Line Victory)
5. ครอบครองสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมด  (ที่ดินที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้ และไม่สามารถซื้อต่อได้, Tourism Victory)

     โดยข้อ 3 4 และ 5 นั้น จะได้ Bonus point แถมด้วยตามลำดับความยากของเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

      เมื่อเราวิเคราะห์ถึงวิธีการบรรลุเป้าหมาย (how) ทางเลือกแต่ละทาง จะพบว่า ทางเลือกที่หนึ่งทำได้โดยการซื้อที่ดินและพัฒนาเพื่อให้ค่าเช่าสูงๆ และรอคู่แข่งมาตก ส่วนทางเลือกที่เหลือนั้น ต้องพึ่งวิธีการทอยลูกเต๋าเพื่อตกบนช่องสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้ 

      ดังนั้น มีทางเลือกที่เราควบคุมสถานการณ์ได้มากที่สุด นั่นคือ ทางเลือกที่ 1 และ 2 ส่วน นั่นหมายถึง ทางเลือกที่เหลือต้องใช้ดวงมากกว่าอย่างแน่นอน และเราเก็บมันไว้เพื่อเป็นโอกาสในการพลิกสถานการณ์มากกว่าวิธีการหลัก

กฎและกติกา ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน หลายต่อหลายครั้งที่ผู้เล่นมักโยนชัยชนะทิ้งต่อหน้าต่อตา เพียงเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าสามารถชะได้โดยใช้เป้าหมายข้อ 3 - 5 ที่พูดไปข้างต้น ซึ่งมันเปลี่ยนสถานะจากผู้ชนะพร้อมโบนัสก้อนโต กลายเป็นผู้แพ้ทันที

รู้เรา - รู้เขา
  
รู้จักตัวเรา  สไตล์การเล่นของเรา จะเป็นตัวกำหนดตัวเดินที่มีค่าพลังที่เหมาะสม หรือ การเลือกใช้ลูกเต๋าที่มีประสิทธิภาพตรงใจ ตรงนี้ผมขอเรียกว่าเป็นแนวคิดของการ Put the right man on the right job นั่นเอง เช่น หากเรามักซื้อต่อที่ดิน อาจต้องใช้ตัวเดินที่ได้ส่วนลดในการซื้อต่อเยอะๆ หรือชอบการเสี่ยงโชค ควรใช้ตัวเดินที่มีค่าการเสี่ยงโชคได้ในระดับสูง
และสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การพัฒนาตัวเดินของเราให้มีความสามารถมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการหยุดพัฒนานั้น ไม่ต่างอะไรกับการก้าวถอยหลังเพื่อให้คู่แข่งแซงไปข้างหน้าเลย

รู้ทรัพยากร  ไอเท็มของเรา สรรพคุณต่างๆ นั้นเราต้องศึกษาอย่างเข้าใจถ่องแท้ บางอย่างอาจส่งผลในทางที่เราไม่เคยคิด เช่น การใช้ไอเท็มเพื่อกำหนดการทอยลูกเต๋า ให้ออก คู่ หรือ คี่ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ มักจะถูกใช้เพื่อหลบหลีกการตกที่ดินของคู่แข่ง แต่ในมุมกลับอาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้ที่ดินที่ต้องการ เพราะช่วยลดอัตราความน่าจะเป็น ในการออกแต้มที่ไม่ต้องการได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

และในเกมที่มีระดับความยากมากขึ้นขึ้น มีเดิมพันสูง การตระเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเกม

กลยุทธ์และการตัดสินใจ

การมองผลลัพธ์ที่ตามมา คิดเชิงระบบ และคิดล่วงหน้าถึงผลกระทบที่ตามมา เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึงในทุกๆ การตัดสินใจของเรา

เช่น การซื้อที่ต่อ ควรต้องพิจารณาว่า คู่แข่งอยู่ในสถานการณ์ไหน คู่แข่งใกล้ล้มละลายหรือยัง
เราจำเป็นต้องได้ที่ตรงนี้ไหม จะคุ้มทุนก่อน หากถูกคู่แข่งซื้อต่อหรือไหม อย่าลืมว่า นี่ไม่ใช่เกมสร้างเมือง แต่เป็นการที่เราต้องทำให้เป้าหมายข้างต้นบรรลุต่างหาก

รู้เขา

รูปแบบการเล่น และกลยุทธ์ของคู่แข่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องสังเกตในการเล่นครับ ตั้งแต่การดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบของตัวเดิน การพกพาไอเท็มของเขา กระทั่งการอ่านรูปแบบพฤติกรรมการเล่นของเขาได้ จะทำให้เราสามารถพลิกแพลงกลยุทธ์ของเราได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และทันท่วงที



      ท้ายที่สุด เกมก็คือการแข่งขันที่มีผู้แพ้และผู้ชนะครับ ต่อให้เราตระเตรียมตัวเป็นอย่างดีแล้ว เราก็อาจเสียท่าอย่างคาดไม่ถึง อย่าได้กังวลหรือหงุดหงิดเลยครับ นั่นเป็นเพราะเหตุและปัจจัยอื่นๆ ไม่ประกอบกันอย่างลงตัว บางครั้ง ฝ่ายตรงข้ามเหนือชั้นกว่า กลยุทธ์ดีกว่า หรือแม้กระทั่งดวง เช่นเดียวกันกับ ชีวิตจริงของเรา ดังนั้น สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดจึงไม่ใช่ "วิธีการเอาชนะ" แต่เป็น "วิธีการเพิ่มโอกาสในการชนะ"ด้วยองค์ประกอบอื่นๆ และวิธีคิดที่เน้นเฉพาะสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เท่านั้นเอง
ขอให้เรามีระบบการคิดที่ดีกับตัว ท่านสามารถลงแข่งใหม่ เรียนรู้ความผิดพลาด และปรับกลยุทธ์ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เชื่อว่าท่านจะใช้โอกาสที่มีได้เต็มศักยภาพมากขึ้น


       ถึงตอนนี้ ผู้อ่านอาจสังเกตเห็นอะไรบางอย่าง ใช่ครับ ในชีวิตจริงของเราก็เช่นเดียวกัน บางครั้ง เราอาจท้อแท้กับโชคชะตาที่ไม่เป็นใจ กับลูกเต๋าของชีวิตเรา ที่หวังพึ่งอะไรไม่ค่อยจะได้ การโทษฟ้าโทษฝน ก็จะมีแต่ทำให้เราเกิดภาวะไร้อำนาจ (Helplessness) หรือท้อแท้สิ้นหวังเพียงอย่างเดียว

มาลองทบทวนดูดีกว่าครับ ว่ามีสิ่งใดในชีวิต ที่เราสามารถทำได้บ้างเพื่อชดเชยดวงที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็น...
               ความสำเร็จ   หรือเป้าหมายของเราชัดเจนหรือไม่ 
               มีวิธีการดำเนินชีวิต   เพื่อไปถึงเป้าหมายดีพอหรือยัง
               ทัศนคติ   ในการดำเนินชีวิตเหมาะสมหรือยัง
               ...และสุดท้ายเรายังขาด ทรัพยากร ใดเกื้อหนุนบ้าง

 มิฉะนั้น เท่ากับว่าเราปล่อยให้ลูกเต๋าแห่งชีวิต กำหนดชะตากรรมของเราอยู่เพียงอย่างเดียว...