วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

5 วายร้าย ทะลายความเป็นทีม (The Five Dysfunctions of A Team)



       การ์ตูนThe Five Dysfunctions of A Team เล่มนี้ ทำให้ผมค่อนข้างแปลกใจเล็กน้อย เพราะปกติแล้ว เมื่อพูดถึงหนังสือแนว Management & Leadership เรามักคุ้นกับหนังสือจำพวก Text หนาๆ หรือ pocket book ที่หน้าปกมีแต่ตัวหนังสือที่ให้ความรู้สึก สุขุม ภูมิฐาน และเป็นการเป็นงาน สมวัยผู้บริหารมากกว่า ทำให้ผมเชื่อแน่นอนว่า นักบริหารหลายคนต้องมองข้ามหนังสือเล่มนี้ เพราะมองดูแค่ปก และการเล่าเรื่องในรูปแบบการ์ตูนอย่างแน่นอน 

       ปกติแล้ว การทำงานในบริษัทนั้น เรามักอยากให้พนักงานทำงานเป็นทีม แต่ละคนแต่ละหน่วยนำความรู้ความสามารถที่เด่นแตกต่างกัน มาทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อนำความสำเร็จมาสู่หน่วยงานและองค์กร
แต่ในทางปฏิบัติ น้อยรายที่จะทำงานเป็นทีมเวิร์คได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่เหลือมักจะพังไม่เป็นท่า ไม่สามารถทำงานประสานกันได้ บางครั้งแค่เห็นหน้ากันก็เอือมจนไม่อยากจะเสวนาด้วยละ จนการทำงานไม่สามารถประสานกันได้อย่างที่ควรจะเป็น และสุดท้ายการแก้ปัญหาเรื่องทีมก็มาจบที่ การทำ Team Building หรือ ไป outing ต่างจังหวัด เพื่อที่คนจะได้กลับมารักใคร่กลมเกลียวสมานฉันท์กันซะที ส่วนผลเป็นอย่างไรน่ะหรือครับ ผมว่าเราทุกคนรู้กันดี 55+

ถ้างั้น มันต้องทำไงล่ะ ทีมมันถึงจะเวิร์คได้สมชื่อ ? 


       หลักใหญ่ใจความของการ์ตูนเรื่องนี้ จึงแนะให้เรากลับมา focus ที่ สาเหตุของปัญหา เข้าทำนองทุกข์อยู่ตรงไหน ก็หาเหตุแห่งทุกข์ตรงนั้นแหละ
เพราะทีมมันเกิดจากการที่คนหลายคนมารวมตัวกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทีนี้ไอ้คนที่มารวมตัวกัน มันดันไม่ได้ผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน สเป็ค เดียวกันน่ะสิครับ สมงสมอง ก็ไม่ได้บรรจุระบบปฏิบัติการเหมือนกันอีก มันก็เลยขัดกันทั้งความเชื่อ สไตล์การทำงาน ไปซะหมด นานวันเข้า โปรแกรมในหัวมันเลยตั้งค่าว่า คนที่ขัดกับเรา มันคือศัตรูของเรา อย่างไปไว้ใจมัน เดี๋ยวจะซวยไม่รู้ตัว

        ตรงนี้แหละครับ ที่เป็นจุดเริ่มของวายร้ายตัวแรก (5 Dysfunctions of A Team) นั่นคือ การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Absent of Trust) จนทำให้ต่างคนต่างป้องกันตัวเอง หน้าตาภาพลักษณ์ และปกปิดจุดอ่อนตัวเองจากศัตรูของเรา 


         การผุกร่อนของ Trust นี่แหละครับที่จะทำให้ฐานรากของบ้านที่เรียกว่า "ทีม" นี้ ทรุดพังลงไปด้วย ไล่ไปตั้งแต่ ไม่อยากตั้งคำถาม ตรวจสอบกันเพราะกลัวจะล้ำเส้น แล้วเดี๋ยวโดนแทงกลับ (Fear of conflict) พอไม่คุยให้เคลียร์ ก็นั่งเงียบ แต่ในใจไม่ยอมรับไม่เห็นด้วย จนขาดการ commit ในงาน (Lack of commitment) ว่าเป็นภาษาบ้านๆคือ นึกในใจว่า "เชิญมึงทำไปคนเดียวเหอะ เดี๋ยวกูพลอยซวยไปด้วย" 

         พอไม่ผูกมัดก็ทำงานกันแบบขอไปที ทำพอผ่าน ไม่อยากไปข้องเกี่ยว หรือตรวจสอบให้งานมันดี (Avoidance of accountability) ร้ายกว่านั้น ก็คือ เป้าช่างแม่ง ทีมช่างมัน (Inattention to result) ขอตัวเองเซฟๆ แบบเก็บขุนในป้อมไว้ก่อน 

         สเตปคุ้นๆ แบบที่เจอในองค์กรไหมครับ 

smile emoticon 
         ดังนั้น การทำ Team ให้มันเวิร์ค จริงๆ นั้น ต้องกลับไปตั้งแต่การทำฐานของทีมให้มั่นคงด้วยการทำให้แต่ละคนในทีมเข้าใจคนอย่างจริงๆ แล้ว Trust มันจะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวเป็นเสาค้ำบ้านที่เข้มแข็งเอง
         ความเข้าใจคนช่วยสร้าง Trust อย่างไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมเคยเจอ คือ ผมรู้ว่าหลายคนไม่ชอบหรอก (อาจถึงขั้นเกลียด) ถ้าจะต้องติดต่อกับหน่วยงานบัญชีในบริษัท แค่พูดชื่อขึ้นมาหลายคนก็ยี้ละ แต่ลองสังเกตนะครับว่า คนที่เขาไม่กลัวหน่วยงานนี้ และสามารถดิวงานกันได้อย่างราบรื่น มักจะเป็นคนที่ให้คำแนะนำกับเราว่า "พี่คนนั้น เขาก็เป็นแบบนั้นแหละ ไม่มีไรหรอก ลองเข้าไปแบบนี้สิ (พร้อมบอกแนวทางการคุย)"
          นี่ขนาดแค่คน ๆ เดียวเข้าใจคนอีกคนนึงนะครับ ลองจินตนาการดูว่า หากในองค์กรเราเข้าใจซึ่งกันและกันล่ะครับ ทีมเรามันจะเวิร์คและพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ขนาดไหนกัน
         ลองหาอ่านในรายละเอียด หรือ ดูคร่าวๆ จาก link บทความในเม้นนะครับ เผื่อจะได้ไอเดียในการ Building the team ที่ยั่งยืนอีกวิธีครับ

-----------
17 ก.พ. 59
อนิรุทธิ์ | PsyberMan



ป.ล. ฉบับภาษาไทยในบ้านเรา แปลโดย อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช ครับ ชื่อ ทำทัมให้เวิร์ค กำจัด 5 อุปสรรคของทีมเวิร์ค

link: http://www.enneagram.co.th/enneagram_files/eg@work1010.pdf